เพราะแบบนี้เอง​ Gibson มันถึงแพง

5169 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เพราะแบบนี้เอง​ Gibson มันถึงแพง

เพราะแบบนี้เอง​ Gibson มันถึงแพง

วีดิโอนี้ยาว​ 49 นาทีนิดๆครับ​ เขาไปถ่ายทำในโรงงานของ​ Gibson ให้เห็นเลยว่ากว่าจะได้กีต้าร์ดีๆ​ 1 ตัวนั้นมันมีกระบวนการแบบไหนอย่างไร

https://youtu.be/wm-_pUsHirw

ใครที่ขี้เกียจดูเพราะกลัวเปลือง​ net แอดมินจะสรุปให้ฟังสั้นๆแบบให้เห็นภาพเลยนะครับ

โรงงานของ​ Gibson ที่แนชวิลมีช่างทำกีต้าร์​ 400 กว่าคน​ กว่ากีต้าร์แต่ละตัวจะเสร็จสมบูรณ์จะใช้เวลาเฉลี่ย​ 1 เดือนเพราะกระบวนการมันเยอะชิบหายครับ

เริ่มแรกเลยกีต้าร์ที่เราเล่นๆกันนี่มันทำมาจากไม้​ ดังนั้นโรงงานเขาจะมีไม้ที่ส่วนใหญ่จะสั่งให้ตัดแล้วบรรทุกส่งมาจากต่างประเทศ​ ไม้มะฮ็อกานีสั่งจากอเมริกาใต้​ ส่วนไม้เมเปิ้ลสั่งจากแคนาดาและมีบางส่วนเป็นไม้ภายในประเทศส่งจากวอชิงตัน​ ไม้เหล่านี้คนของ​ gibson​ จะไปตรวจสอบเพื่อคัดเกรดไว้ก่อน​ ลายไม้ต้องเป็นเส้นขนาน​ ไม่มีปุ่ม​ ไม่มีรูหนอน

พอไม้สดมาถึงโรงงานช่างไม้จะตรวจคุณภาพของไม้​ อันไหนมีความชื้นเขาจะแยกเอาไปอบ​ อันไหนแห้งเกินไปเขาจะเอาไปทำให้มันชื้นขึ้นตามสเป็คของเขา

จากนั้นจะใช้เครื่องตัดไม้ตัดออกมาเป็นชิ้นๆให้ได้ขนาด​, เลาะผิวให้เรียบร้อยกำจัดเสี้ยนออกไป​, ใช้ปากกาเขียนลำดับเลข, ติดกาว​, เอาเข้าเครื่องบีบให้กาวแน่น, พอกาวแห้งก็ทำความสะอาดกาว​ แล้วถึงเอาไม้ไปตัดเป็นทรง​ (Les​ Paul, SG, Thunderbird ฯลฯ)

ส่วนคนที่ทำคอกีต้าร์ก็จะไปคัดไม้ที่มีลายเส้นขนานมาทำคอ​ เพราะไม้ลายนี้มันจะทนทานที่สุด​ คอจะต้องแข็งแรง​ มัน​ เงา​ เพราะมันคือส่วนที่โดนจับมากที่สุดของกีต้าร์​ ทุกอย่างใช้ของดีหมดไม่ว่าจะเป็นเหล็กขันคอ ไปจนถึงกาว

พอได้บอดี้และคอแล้วคราวนี้เขาก็ย้ายจากแผนกไม้ไปยังแผนกทำสี​ ที่นี่จะเป็นจุดที่ควบคุมอุณหภูมิ​ เขาจะฉีดไอน้ำฝอยๆไว้ด้านบนตลอดเพื่อให้ได้ความชื้นตามที่ต้องการ​

ช่างจะขัดไม้ให้เนียนๆ​ ใส่ไบน์ดิ้งด้วยมือ​ อัดกาว​ แล้วผูกเชือก​ผ้าดิบทับไปทับมา (เหมือนคนอียิปต์​ทำมัมมี่)​ เพื่อสร้างแรงบีบให้กระจายไปทั่วบอดี้​ แล้วทิ้งไว้ข้ามคืนรอกาวแห้ง​ ระหว่างนั้นช่างที่ทำ​ Fretboard​ ก็จะเจาะคอทำ​ inlay ใส่​ fret ใส่​ inlay เรียบร้อยก็จะเอาไปทากาวติดกับคอกีต้าร์​ และปั๊ม​ serial number ไปที่ด้านหลังของหัวกีต้าร์

ถึงตรงนี้จะเป็นช่วงที่สำคัญ​ที่สุด​ นั่น​คือ​การประกอบคอเข้ากับบอดี้​ ช่างจะต้องแต่งแล้วแต่งอีกให้มันพอดี​ วัดองศาให้มันได้​ ขัด/เหลาซอกคอให้เป๊ะที่สุด​แล้วจึงอัดกาวประกอบคอกับบอดี้เข้าด้วยกัน​ แล้วทิ้งไว้อย่างน้อย​ 8​ ชม.

มาถึงขั้นตอนแต่ง​ fret ช่างจะเอากีต้าร์แต่ละตัวเขาเครื่องคำนวนเพื่อหาค่าแรงดึงของสายที่จะมีผลต่อตัวกีต้าร์​ พอได้ตัวเลขแล้วจึงจะทำการเจียร​ fret ให้โค้งมนเพื่อให้คอรับแรงดึงได้สมดุลย์​กัน

เมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะส่งกีต้าร์ไปทำสีในห้องพิเศษที่ปราศจากฝุ่น​ เขาจะแขวนกีต้าร์บนราวเหล็กที่มีประจุไฟฟ้าเป็นตัวนำดึงดูดสีรองพื้นให้มาเคลือบที่ตัวกีต้าร์ในความหนา 0.01 มม.​ รองพื้นเสร็จก็ปิดเทปทับ​ Fretboard​ เพื่อเตรียมทำสีจริง

ตรงนี้แหละครับที่โคตรจะพีคเลย​ เพราะสีธรรมดาๆ​ เช่น​ ขาว, ดำ, แดง​ นี่ไม่เท่าไร​ แต่สี​ sunburst นี่ช่างเขาทำด้วยมือครับ​ เป็นงานฝีมือที่ใช้มือพ่นเลย​ ดังนั้น​ sunburst ทุกตัวจะไม่มีตัวไหน​ "เหมือนกัน" เลย​ แอดมินก็เพิ่งรู้นี่แหละ

ทำสีเสร็จก็มาเก็บงาน​ ตรงนี้ก็ใช้มือทำเช่นกัน​ ช่างเก็บงานของ​ Gibson จะใช้คัทเตอร์คมๆธรรมดาๆนี่แหละครับเก็บรอยสีที่เกินมา​ ขูดกันสนุกเลย​ แต่เขาไม่ได้ขูดมั่วนะครับ​ การลงมีดต้องเบามาก​ยิ่งกว่าหมอศัลยกรรมอีก ขูดกันทุกซอกเล็กซอกน้อยทั้งบอดี้​, ไบน์ดิ้ง, คอ​ และ​ fretboard

แล้วเขาก็เอากีต้าร์ไปลงแล็คเกอร์ที่ต้องผ่านห้องอบ​อุณหภูมิ​ 110​ องศาหลายรอบเพื่อให้ชั้นสีแห้ง​ และกว่าแล็คเกอร์จะเข้าเนื้อก็ต้องมีอย่างน้อย​ 9​ ชม.​ จากนั้นก็เอาไปขัดเงาให้มันแวววาวด้วยการขัดแบบใช้มือขัด​, ส่งไปประกอบอุปกรณ์​อีเลคทรอ​นิคต่างๆ, เสียบสายแจ็คเปิดระบบเป็นครั้งแรก​ และทำการ​ qc ตรวจเช็คทุกอย่างไม่ให้ผิดพลาด​ ก่อนที่จะ​ Set​ up มัน

และแล้วก็มาถึงด่านสุดท้ายครับ

หลัง​ set up เสร็จก็จะมีอีกทีมที่ทำหน้าที่​ "ทดลองเล่น" คนกลุ่มนี้มีหน้าที่เอากีต้าร์ไปเสียบตู้แอมป์แล้วเล่นๆๆๆๆจนรู้สึกว่ามันได้มาตรฐาน​ของ​ gibson​ และพร้อมจะส่งออกจากโรงงาน​ งานแม่งโคตรจะน่าอิจฉาเพราะไม่ต้องทำอะไรเลย​ มีหน้าที่เล่นเพียงอย่างเดียว​ แต่ละคนนี่แน่นอนว่าเป็นนักดนตรี​ทั้งนั้น

Gibson บอกว่ามีคนมาสมัครงานในตำแหน่ง​นี้เยอะมาก​ แต่ส่วนใหญ่ผิดหวังกลับไป​ คนทำในตำแหน่งนี้เขาอยู่กันยาวเป็นสิบๆปีไม่ค่อยมีใครลาออกครับ​ เพราะงานมันสนุกและสบายจริงๆ​ การได้เล่นกีต้าร์ดีๆที่เพิ่งออกมาจากสายการผลิตนี่นักดนตรีทุกคนชอบกันทั้งนั้นแหละ

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามาหายสงสัยเลยครับว่าทำไม​ gibson​ มันถึงแพง

แอดมินอยากปิดเพจเลิกขายกีต้าร์แล้วไปสมัครเป็นคนทดสอบกีต้าร์จริงๆ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้